Last updated: 2021-07-29 | 1319 จำนวนผู้เข้าชม |
เคลมประกันโควิด เคลมยังไงให้ได้เงิน
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเนื่อง เชื่อว่าหลายคนที่ทำประกันภัยโควิดไว้ คงอยากรู้ว่า หากติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ จะต้องยื่นเอกสารอย่างไรในการขอเคลมประกันฯ วันนี้เรารวบรวมขั้นตอนในการขอเคลมประกันโควิด รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้มาฝากค่ะ
ทั้งนี้สิ่งที่ควรรู้ก่อนเลยคือ ประกันภัยโควิด-19 มีหลักๆ อยู่ 2 แบบ คือ แบบที่เรียกกันว่า เจอ-จ่าย-จบ และแบบมีการเบิกค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นก่อนจะยื่นเรื่อง ต้องเช็กเอกสารการทำประกันภัยของเราให้ดีก่อนว่า เลือกซื้อประภันภัยแบบไหนไว้
ขั้นตอน เคลมประกันโควิด
1. ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันโควิด: ดูรายละเอียดว่ากรมธรรม์ได้มีวามคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง อาทิ ค่ารักษาพยาบาล, ค่าชดเชยรายได้รายวัน และใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ เพื่อที่ว่าจะได้เบิกเคลมได้ครบทุกรายการ และจะได้เตรียมเอกสารครบตามที่บริษัทร้องขอ
2. ตรวจสอบบริษัทประกันอย่าให้ผิด: ระวังการติดต่อผิดบริษัท ความผิดพลาดนี้มักเกิดจากการจดจำชื่อสลับกัน หรือพูดชื่อสลับกันบ่อย ๆ เนื่องจากบางทานได้ทำกรมธรรม์ไว้หลายบริษัท อาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้
3. จดเลขกรมธรรม์ไว้เคลม: ถ้ามีเลขที่กรมธรรม์ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่หาข้อมูลสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทได้ง่าย และช่วยลดขั้นตอนไปได้หลายอย่างทีเดียว เพราะฉะนั้นหลังทำประกันโควิดไปแล้วต้องตรวจสอบการรับกรมธรรม์ให้สำเร็จด้วย
4. ตรวจสอบ ชื่อ นามสกุล และวันเดือนปีเกิด ให้ถูกต้อง: มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าจะมีผู้เอาประกันภัยชื่อเดียวกัน นามสกุลคล้ายกัน ทำประกันไว้กับบริษัทเดียวกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบข้อมูล 3 อย่างนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานให้กับเราได้อย่างถูกต้อง
5. ถ่ายสำเนาเอกสารหลักๆ รอไว้: โดยปกติแล้ว ทางบริษัทประกันภัยจะขอเอกสารเพื่อเคลมสินไหม และเอกสาร 3 อย่างนี้เราสามารถถ่ายเอกสารเตรียมรอไว้ได้เลย เพราะจะได้ใช้แน่นอน ได้แก่ บัตรประชาชนผู้ป่วย, สำเนาบัตรประชาชนผู้รับผลประโยชน์ (ถ้ามี), สำเนาสมุดบัญชีหน้าแรกที่มีเลขบัญชี
6. ขอเอกสารเคลมประกันสินไหมจากบริษัทประกัน (เอกสารสำคัญ): ทุกบริษัทประกันภัยที่ออกประกันโควิดจะให้คุณกรอกใบคำร้อง ซึ่งเป็นเอกสารที่ต้องกรอก 1-3 หน้ากระดาษ A4 เรียกว่า “แบบฟอร์มเรียกร้องค่าสินไหม” ย้ำว่าถ้าไม่มีใบนี้ ประกันจะยังไม่ทำเรื่องเบิกสินไหมให้แน่ๆ เพราะบริษัทประกันจะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ และรับผลประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง เท่าไหร่ ?
7. ใบรับรองแพทย์ตัวจริง (เอกสารสำคัญ): ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ตัวจริง จะไม่สามารถเบิกได้ โดยแพทย์จะต้องระบุชัดเจนว่าเป็นอาการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงทางบริษัทประกันภัยอาจขอดูใบรายการการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากทางโรงพยาบาลเพิ่มเติมด้วย ผู้ที่ทำประกันโควิดไว้หลายบริษัท จึงจำเป็นต้องขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลไว้หลายๆ ใบ โดยแจ้งกับทางโรงพยาบาลว่าจะใช้ไปเบิกประกัน คุณหมอเจ้าของไข้จะได้เป็นผู้เซ็นรับรองสำเนาอีกครั้ง
8. ใบเสร็จตัวจริง (เอกสารสำคัญ): เช่นเดียวกันกับใบรับรองแพทย์ ที่ต้องใช้ตัวจริงเท่านั้น และไม่ว่าจะมีกี่หน้าต้องตรวจสอบให้ครบ เพราะทางบริษัทประกันภัยจะตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโรคโควิด-19 และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย กรณีนี้ ผู้ที่ทำประกันโควิดไว้หลายบริษัท จะไปถ่ายสำเนาเองไม่ได้ จะต้องเป็นการทำสำเนาจากทางโรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเซ็นรับรองความถูกต้องเท่านั้น
9. รอตรวจสอบ: ระยะเวลาที่บริษัทประกันภัยตรวจสอบนั้น มีตั้งแต่ยืนรอรับเงินสดที่เคาน์เตอร์ได้เลย หรือรับผ่านบัญชีธนาคาร หรือรับเป็นเช็คสั่งจ่ายในชื่อผู้รับผลประโยชน์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท เช่น บางบริษัทบอกว่าหากต้องสั่งจ่ายเงินสดเกิน 20,000 บาท จะต้องรับเป็นเช็คเท่านั้น
10. รับเงิน: หลังจากรับเงินมาต้องตรวจสอบให้ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ให้ผิดพลาด ถ้ามีขาดหรือเกินมา ต้องแจ้งกับบริษัทประกันภัยทันที เเพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้อาจทำให้คุณไม่สามารถไปขอเงินส่วนที่ขาดได้
ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการเบิก เคลมประกันโควิด ที่ทุกบริษัทถือปฏิบัติเหมือนกัน จะมีต่างกันก็ตรงแบบฟอร์มของแต่ละบริษัทที่ให้กรอกข้อมูลมากน้อยไม่เท่ากัน รวมถึงระยะเวลาพิจารณาจ่ายเบี้ยคืนด้วย ขอแค่ผู้เอาประกันภัยจะต้องส่งเอกสารต่าง ๆ ในการเคลมให้บริษัทประกันภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกจากโรงพยาบาล
เอกสารประกอบการเคลมประกันโควิด
1. แบบฟอร์มเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
2. ใบรับรองแพทย์ที่ระบุอาการสำคัญ และผลการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 (ฉบับจริง)
3. ผลการตรวจโรคว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากห้องทดลอง (Lab test ฉบับจริง)
4. แฟ้มประวัติการตรวจรักษาพยาบาล พร้อมประทับตรา รพ.
5. ใบเสร็จสรุปค่าใช้จ่าย รายละเอียดยา เวชภัณฑ์ ผลตรวจวินิจฉัย ฯลฯ พร้อมประทับตรา รพ.
6. สำเนาบัตรประชาชน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาโดยเจ้าของบัตร
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมเซ็นรับรองสำเนาโดยเจ้าของบัญชี
8. สำเนากรมธรรม์ประกันโควิดที่ยังไม่หมดอายุ
9. เอกสารอื่น ๆ ที่บริษัทร้องขอตามความจำเป็น (ถ้ามี)
ประกันโควิดแบบคุ้มครองค่ารักษาตามจริง จะต่างกับแบบเจอจ่ายจบ ตรงที่จ่ายค่าสินไหมทดแทนแบบ “เหมาเป็นก้อน”
คำถามที่พบบ่อย
… รพ.ทั่วไปเตียงเต็ม ต้องไปนอน รพ.สนาม หรือ Hospitel เคลมประกันได้มั้ย
อันดับแรกทาง รพ. ที่เราไปตรวจจะต้องประสานงานจัดหาเตียงให้ หากต้องแอดมิท รพ.เอกชนแล้วพบว่าเตียงเต็มก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่รักษา เพราะล่าสุด คปภ. ได้ออกคำสั่งใหม่มาแล้วว่าผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.สนาม และ Hospitel ให้ถือว่าเป็น “ผู้ป่วยในและสามารถเคลมประกันโควิดได้” ไม่ต้องกังวล
แต่จะเคลมได้หรือไม่ในทุกเคสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “นโยบายของบริษัทประกันด้วย”กรณีขอย้ายไป Hospitel บางบริษัทประกันเราเลือกได้ แต่บางแห่งไม่ได้ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา
... ผลตรวจโควิดเคลมได้หรือไม่ได้ แบบไหนเคลมได้
เรามีคำตอบมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ผลตรวจโควิดเคลมได้ต้องมีคำว่า RT-PCR(COVID-19)
ถ้ามีคำว่า AG เป็นการตรวจแบบเร่งด่วนใช้เคลมไม่ได้
ตรวจโควิดด้วยวิธี Real-time RT-PCR
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี Real-time RT-PCR หรือ การแยงจมูก เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดยมีประสิทธิภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ดังนี้
ทราบผลได้ค่อนข้างแม่นยำ
สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสได้ในปริมาณที่น้อย ๆ ได้
ทราบผลการติดเชื้อหลังจากตรวจแล้วภายใน 24-48 ชั่วโมง
สามารถตรวจจับได้ทั้งเชื้อเป็น และเชื้อตาย
เหมาะสำหรับตรวจหาโรค ตั้งแต่ระยะแรกที่เกิดโรค
เก็บตัวอย่างได้ด้วยตัวเอง
ไม่ต้องใช้ PPE
ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์
เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจซ้ำได้หลายครั้ง
ใช้ในกรณีต้องการเก็บตัวอย่างเป็นจำนวนมาก
ตรวจโควิดด้วยวิธี Rapid Antigen Test
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า การตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี Rapid Antigen Test เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฎิบัติการ
ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 10-30 นาที
เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ
ค่าผลตรวจออกมาเป็นบวก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อ ส่วนผลตรวจออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ
การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) ต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะตรวจได้ผลที่แม่นยำ ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) จะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วยแล้ว (หากตรวจนอกเหนือจากเวลาดังกล่าวอาจให้ผลที่ไม่แม่นยำ)
... ทราบผลติดเชื้อโควิด-19 และต้องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์
กรณีทราบผลติดเชื้อโควิด-19 และต้องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย แต่ไม่มีใบรับรองแพทย์เนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลได้ สามารถดำเนินการเพื่อขอใบรับรองแพทย์ตามนี้ค่ะ
ประชาชนใน กทม. และปริมณฑล ที่มีผล covid 19 positive ไม่ว่าจะเป็น ผลจาก PCR หรือ Rapid ag สามารถโทรลงทะเบียนเข้าระบบ รักษาตัวที่บ้าน โดยโทรแจ้ง 1330 ต่อ 14 ทางกลุ่มแพทย์ Home isolation ภายใต้กำกับดูแลจากราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
จะมีการส่งที่วัด o2 sat อาหาร 3 มื้อ ยาที่จำเป็น รวมถึง favipiravia ฟ้าทะลายโจร และ prednisolone และ ยา suppotive symptoms ครบเกือบทุกตัว จะมีหมอ telemed ไปทุกวัน ถ้าเปลี่ยนเป็น สีเหลืองหรือแดง จะช่วยประสานงานเบื้องต้น อาจหา oxygen support ให้ได้ ให้แพทย์และ พยาบาล ดูแลทาง telemed
กรณีผู้ป่วยโควิด-19 รับการรักษาที่บ้าน (Home isolation) สามารถขอรับใบรับรองแพทย์ได้ตามตัวอย่าง
ทั้งนี้ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถลงทะเบียนข้อมูลผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้าน (COVID-19 Home Isolation) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่ https://crmhi.nhso.go.th หรือ ติดต่อ 1330 กด 14